พุยพุย

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สรุปวิจัย

ชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์  การจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย
ชื่อผู้เขียน  นางสาวอภัญญา  มนูญศิลป์
ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เผยแพร่เมื่อปี  2548


ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

  • ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตมนุษย์ มนุษย์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น และใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแสดงหาความรู้และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน การพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์ในระดับปฐมวัยจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่มีความสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาการทุกด้านมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการทางด้านสติปัญญา เป็นช่วงที่เด็กจะเกิดการเรียนรู้มากที่สุด ฉะนั้น การจัดการศึกษาหรือการจัดสภาพแวดล้อมให้กับเด็กวัยนี้ ควรคำนึงถึงความพร้อมและจัดให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก เพราะเด็กวัยนี้เรียนรู้ได้ดีจากการมีประสบการณ์ตรงและได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
  • การพัฒนาทางสติปัญญาในเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่ จะใช้กิจกรรมการเล่นเป็นหลัก เพราะขณะที่เด็กเล่นเด็กได้ใช้ความคิดหลายแบบ เช่น ความคิดแบบกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือ ได้สังเกต พิจารณา ทดลองทำ สรุปผล เด็กได้คิดฝันอย่างอิสระ หรือคิดแบบสร้างสรรค์จินตนาการ นอกจากนี้การเล่นตามความคิดจะช่วยส่งเสริมการทำงานในเด็กด้วย 
  • กิจกรรมเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง สำหรับเด็กวัย 3-6 ปี ที่ช่วยส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้านทักษะการสังเกตและจำแนกของเด็กปฐมวัย โดยจัดให้เด็กได้เล่นสัมผัสกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรง ซึ่งจะกระตุ้นความสนใจให้เด็กอยากรู้อยากเห็น ช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ ความสามารถในเชิงก่อสร้าง เด็กมีโอกาสคิดสร้างสรรค์จินตนาการ ก่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าต่อการพัฒนาทางด้านสติปัญญาได้อีกทางหนึ่ง         
          จากเหตุผลดังกล่าว ผู้วิจัยต้องการศึกษาว่า การจัดกิจกรรมกลางแจ้งโดยจัดให้เด็กปฐมวัยได้ปฏิบัติกิจกรรมการเล่นน้ำ เล่นทราย และเล่นมุมช่างไม้ มีผลต่อทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้านทักษะการสังเกต และทักษะการจำแนกประเภทอย่างไร และผลที่ได้รับจากการวิจัยครั้งนี้จะเป็นแนวทางให้ครู และผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาปฐมวัยได้นำไปปฏิบัติเพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

          เพื่อเปรียบเทียบทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ด้านทักษะการสังเกตและทักษะการจำแนกประเภท ระหว่างเด็กปฐมวัยที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งแบบมีการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้ กับเด็กปฐมวัยที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งแบบไม่มีการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้

สมมติฐานการวิจัย

          ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ตั้งสมมติฐาน คือ เด็กปฐมวัยที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งแบบมีการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้ มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้านทักษะการสังเกต และทักษะการจำแนกประเภทสูงกว่าเด็กปฐมวัยที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งแบบไม่มีการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้

ขอบเขตของการวิจัย

          ขอบเขตประชากร  :  เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2541
          ขอบเขตเนื้อหา  :  เนื้อหาที่ใช้สอนเพื่อให้เด็กได้รับทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้านทักษะการสังเกต และทักษะการจำแนกประเภท โดยใช้วิธีการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์แบบไม่เป็นทางการ คือ จัดให้มีที่เล่นน้ำ บ่อทราย มุมช่างไม้ โดยครูเป็นผู้จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือต่าง ๆ ในการปฏิบัติกิจกรรมอย่างหลากหลาย และให้เด็กเลือกปฏิบัติกิจกรรมอย่างอิสระด้วยวิธีการของเด็กเอง ในระหว่างเด็กปฏิบัติกิจกรรม ครูจะเป็นผู้สนับสนุนและกระตุ้นเร้าให้เด็กเกิดความสนใจที่จะใช้วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ในการศึกษาและทำการทดลองในเรื่องต่าง ๆ อีกทั้งเป็นผู้อำนวยความสะดวกและคอยให้ความช่วยเหลือเมื่อเด็กต้องการ
          ตัวแปรในการวิจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น
          1.  ตัวแปรอิสระ  คือ
               1.1  กิจกรรมกลางแจ้งแบบมีการเล่นน้ำ เล่นทราย และเล่นมุมช่างไม้
               1.2  กิจกรรมกลางแจ้งแบบไม่มีการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้
          2.  ตัวแปรตาม  คือ  ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ด้านทักษะการสังเกต และทักษะการจำแนกประเภท

นิยามศัพท์เฉพาะ
  • เด็กปฐมวัย  หมายถึง  เด็กชายและเด็กหญิง อายุระหว่าง 4-5 ปี ซึ่งกำลังเรียนอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2541
  • ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  หมายถึง  ความสามารถที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติและฝึกฝนกระบวนการทางความคิด ในการค้นคว้าหาความรู้และแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างคล่องแคล่วและชำนาญ 
  • ทักษะการสังเกต  หมายถึง  ความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และ ผิวกาย ไปสัมผัสโดยตรงกับวัตถุ หรือเหตุการณ์ โดยมีจุดประสงค์ที่จะรวบรวมข้อมูล ซึ่งเป็นรายละเอียดของสิ่งนั้น
  • ทักษะการจำแนกประเภท  หมายถึง  ความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่งของร่างกายในการจัดแบ่ง หรือเรียงลำดับวัตถุหรือสิ่งของที่มีอยู่ให้เป็นหมวดหมู่ โดยมีเกณฑ์ในการจัดแบ่ง เกณฑ์ดังกล่าวอาจใช้ความเหมือน ความแตกต่างหรือความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
  • กิจกรรม  หมายถึง  กิจกรรมการเล่นกลางแจ้งที่ครูจัดให้เด็กได้เล่นนอกห้องเรียน ทั้งในบริเวณกลางแจ้งและใต้ร่มไม้ เพื่อให้เด็กได้เคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างอิสระและสนุกสนาน
  • กิจกรรมแบบมีการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้  หมายถึง  สิ่งที่ครูจัดขึ้นเพื่อให้เด็กได้ปฏิบัติกิจกรรมการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้นอกห้องเรียนตามความสนใจอย่างอิสระ
  • กิจกรรมแบบไม่มีการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้  หมายถึง  การให้เด็กได้เล่นเครื่องเล่นสนามประเภทต่าง ๆ และเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ โดยไม่มีการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้
ประโยชน์ที่ได้รับ
  1. ได้พัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกตและการจำแนกประเภทให้กับเด็กปฐมวัย
  2. ได้แนวทางสำหรับครู ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัย ได้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของกิจกรรมการเล่นน้ำ เล่นทราย และเล่นมุมช่างไม้
  3. ครูได้นำแนวคิดในการจัดกิจกรรมการเล่นนี้ไปใช้ในการพัฒนาเด็กให้มีศักยภาพทั้งด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

ประชากร 
          ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ เด็กนักเรียนชาย-หญิง อายุระหว่าง 4-5 ปี ที่กำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2541 โรงเรียนสาธิตสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ

กลุ่มตัวอย่าง 
          กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชาย-หญิง อายุระหว่าง 4-5 ปี ที่กำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2541 โรงเรียนสาธิตสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 30 คน โดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
  1. แผนการจัดกินกรรมการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้
  2. แบบทดสอบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาตร์ (แบบทดสอบวัดทักษะการสังเกต และแบบทดสอบวัดทักษะการจำแนกประเภท)
การสร้างเครื่องมือ
  1. สร้างแผนการจัดกิจกรรมการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้ เพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ด้านการสังเกต และการจำแนกประเภท โดยใช้วิธีการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์แบบไม่เป็นทางการ
  2. แบบทดสอบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาตร์ ด้านทักษะการสังเกตและด้านการจำแนกประเภท
ตัวอย่างแผนการจัดประสบการณ์



สรุปผลการวิจัย
  1. เด็กปฐมวัยที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งแบบมีการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้ มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สูงกว่าเด็กปฐมวัยที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งแบบไม่มีการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
  2. เด็กปฐมวัยที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งแบบมีการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้ มีทักษะการสังเกตสูงกว่าเด็กปฐมวัยที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งแบบไม่มีการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
  3. เด็กปฐมวัยที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งแบบมีการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้ มีทักษะการจำแนกประเภทสูงกว่าเด็กปฐมวัยที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งแบบไม่มีการเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นมุมช่างไม้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01








    


สรุปบทความ


กิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะทางวิทยาศาสตร์ในเด็กปฐมวัย

" การทำอาหาร "


          วิทยาศาสตร์  มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของคนเรา จะเห็นว่า แม้แต่เด็กปฐมวัยก็ยังได้รับประสบการณ์ในชีวิตประจำวันที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น ประกอบกับเด็กปฐมวัยมีความอยากรู้อยากเห็นและมักจะตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ เด็กปฐมวัยควรจะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการค้นคว้าหาความรู้ เพื่อที่จะได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ และ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และ จะได้มีโอกาสพัฒนา และ ประยุกต์ความรู้เหล่านั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต

          สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิทยาศาสตร์ประถมศึกษา (2551) นำเสนอ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ครูและผู้ปกครองควรจะส่งเสริมให้แก่เด็กปฐมวัย ประกอบด้วย

1. ทักษะการสังเกต
2. ทักษะการจำแนกประเภท
3. ทักษะการทำนาย
4. ทักษะการวัด
5. ทักษะการคำนวณ
6. ทักษะการจัดกระทำและสื่อความหมายข้อมูล
7. ทักษะการหาความสัมพันธ์ระหว่างมิติของวัตถุ
8. ทักษะการลงความคิดเห็นจากข้อมูล

          การประกอบอาหาร เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ส่งเสริมทักษะวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กปฐมวัย  โดยทั่วไปแล้ว เด็กเล็ก ๆ ในวัยนี้มักจะไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองให้ช่วยทำอาหาร อาจจะเป็นเพราะเกรงในเรื่องความปลอดภัย หากใช้มีดที่มีความคม หรือ หากต้องประกอบอาหารโดยใช้ความร้อน แต่หากมองอีกแง่มุมหนึ่ง การประกอบอาหารเป็นกิจกรรม และ จัดว่าเป็นสื่อการสอนอย่างดีที่จะช่วยพัฒนาทักษะ ความรู้ และ ความเข้าใจในแนวคิดทั้งทางวิทยาศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ หากครูและผู้ปกครองให้ความช่วยเหลือเด็ก อยู่ใกล้ ๆ และคอยระมัดระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กในขณะทำอาหาร เด็กก็จะได้รับประโยชน์จากกิจกรรมประกอบอาหารอย่างมาก ดังได้กล่าวแล้วว่า 
>>>>>  การประกอบอาหารเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ส่งเสริมทักษะวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กปฐมวัย เพราะเป็นกิจกรรมที่เด็กได้รับประสบการณ์ตรงตั้งแต่
  • ขั้นเตรียมอุปกรณ์ และส่วนผสม  ส่วนประกอบที่นำมาใช้ในการประกอบอาหารก็ล้วนแต่เป็นของจริง ทำให้เด็กเกิดความสนใจ และ ช่วยทำให้เด็กจดจำง่าย  ในขณะทำอาหาร เด็กต้องใช้การสังเกตปริมาณส่วนผสม ส่วนประกอบของอาหารที่จะทำ 
  • รวมถึงการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่นำมาทำเป็นอาหาร การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ การเปรียบเทียบรสชาติ ในขณะทำอาหาร เด็กได้พัฒนาแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับ ขนาด รูปร่าง ตัวเลข จำนวน สี การชั่ง ตวง การดมกลิ่น การรู้รส ซึ่งจะทำให้เด็กรับรู้ความเหมือน ความต่าง และ ความหมายของสิ่งที่เด็กได้รับรู้นั้น 
  • นอกจากนี้ เด็กก็ยังได้เรียนรู้ทักษะการจำแนก เช่น จำแนกส่วนประกอบอาหารที่นำมา เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะนาว ว่ามีรูปทรงกลมเหมือนกัน ขนาดต่างกัน รสชาติเปรี้ยวเหมือนกัน หรือ เด็ก ๆ อาจจะแบ่งประเภทของอาหารตามเกณฑ์อื่นๆ เช่น สี จำนวน รูปร่าง และ ประเภท ในการจัดกิจกรรมประกอบอาหารนี้ครูอาจจะสร้างสถานการณ์เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ได้ด้วย เช่น ให้เด็ก ๆ ช่วยกันคิดว่า ถ้าเราจะลองทำไข่ยัดไส้ เด็ก ๆ อยากจะใส่ส่วนผสมอะไรได้บ้าง เป็นต้น  

          โดยธรรมชาติของเด็กปฐมวัย จะมีความคิด การใช้ภาษาอย่างจำกัด ทำให้เด็กอาจจะไม่สามารถถ่ายทอดความคิด ความเข้าใจ และ ความต้องการให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายนัก การใช้คำถาม จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยทำให้ ครู และ ผู้ปกครอง มีความเข้าใจเด็กมากยิ่งขึ้น คำถามที่ท้าทาย และ กระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้ จะส่งเสริมให้เด็กคิดหาคำตอบ ด้วยวิธีการทดลอง ลงมือทำ หรือ หาคำตอบจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ คำถามที่ครูใช้ควรเป็นคำถามปลายเปิดเพื่อให้เด็กได้คิด ตอบ แสดงความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นขั้นตอนการสื่อสารที่เด็กได้พัฒนาทางด้านภาษาอีกด้วย เด็กจะได้เรียนรู้จากการมีปฎิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนในชั้นเรียน

ตัวอย่าง การสอนทำขนมบัวลอยเพื่อพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ในระดับเด็กปฐมวัย

          กิจกรรมทำขนมบัวลอย จะส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้การลอย การจม การเปลี่ยนแปลงของแป้งข้าวเหนียวที่จะนำมาทำบัวลอย โดยครูให้เด็กสังเกตลักษณะของแป้งข้าวเหนียว โดยการใช้ประสาทสัมผัส และบอกได้ว่ามีแป้งก่อนที่จะผสมน้ำมีลักษณะเป็นผง มีสีขาว เมื่อนำมาผสมน้ำ จะสามารถปั้นเป็นก้อนกลม ๆได้ และ เมื่อนำมาผสมสีธรรมชาติ สีขาวของแป้งข้าวเหนียวก็จะเปลี่ยนไปตามสีที่นำมาผสม  ในขณะที่เด็ก ๆ ปั้นแป้งนั้น อาจจะให้เด็กปั้นเป็นรูปต่าง ๆ ได้ตามชอบใจ ใส่สีธรรมชาติซึ่งอาจจะผสมสีส้มของแครอท สีเขียวของใบเตย เมื่อปั้นเสร็จแล้ว อาจจะให้เด็กจำแนกแป้งที่ปั้นจัดเป็นกลุ่ม ๆ โดยให้เด็กคิดเกณฑ์การจำแนกเอง เด็กบางคนอาจจะจำแนกแป้งที่ปั้นแล้วตามรูปทรงที่ตนปั้น เด็กบางคนอาจจะจำแนกแป้งที่ปั้นตามสีที่ตนผสม ซึ่งครูอาจจะใช้คำถามถามเด็กว่า ทำไมจึงจัดกลุ่มพวกนี้อยู่กลุ่มเดียวกัน



          ในขณะทำบัวลอย ครูอาจจะต้องเป็นผู้ช่วยตั้งน้ำให้เดือด และ คอยช่วยเหลือใกล้ ๆ ให้เด็กค่อย ๆ นำแป้งที่ปั้นแล้วใส่ลงในหม้อน้ำเดือด โดยก่อนที่เด็ก ๆ จะใส่แป้งลงในหม้อ ครูอาจจะใช้คำถามกระตุ้นความสนใจให้เด็กทำนาย และ ลงมือทำการทดลอง เช่น เด็ก ๆ คิดว่า แป้งที่เด็ก ๆ ปั้นให้มีขนาดต่างกัน มีทั้งขนาดใหญ่ และ ขนาดเล็ก เมื่อนำไปใส่ในน้ำเดือด เด็ก ๆ คิดว่า แป้งที่มีขนาดต่างกันนั้นจะลอย หรือ จมน้ำ และ ถ้าลอยขึ้นมา เด็ก ๆ คิดว่า จะลอยขึ้นมาพร้อมกันหรือไม่ เพราะเหตุใด” 
          ในขั้นตอนของการทำน้ำกะทิ ครูอาจจะให้เด็กชิมน้ำกะทิ แล้วถามเด็กว่า เด็ก ๆ คิดว่า น้ำกะทิที่เด็ก ๆ ได้ชิมไป มีรสชาติอย่างไร น่าจะมีส่วนผสมใดประกอบอยู่บ้างแล้วครูก็ให้เด็กนำน้ำตาล เกลือ น้ำกะทิยกขึ้นตั้งไฟ แล้วถามคำถามเด็กอีกว่า น้ำตาลที่เด็ก ๆ เห็นก่อนใส่ในน้ำกะทิ เมื่อใส่ลงไปในหม้อต้มน้ำกะทิเดือดแล้ว เด็ก ๆ คิดว่าน้ำตาลหายไปไหน
          เมื่อร่วมกันทำขนมบัวลอยแล้ว ครูก็แจกขนมบัวลอยที่เด็ก ๆ ได้เป็นคนทำ เด็กก็จะมีความรู้สึกภูมิใจที่เป็นคนทำขนมบัวลอยด้วยตัวเอง และเมื่อชิมก็จะได้พัฒนาประสาทสัมผัสทางลิ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การตั้งคำถามทางวิทยาศาสตร์ได้อีกมากมาย ครูอาจจะสอนสอดแทรกในเรื่องของการทำความสะอาดถ้วยขนม และ โต๊ะอาหารหลังจากรับประทานขนมเสร็จแล้วได้ด้วย





วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 16

วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน 2559 เวลา 13.30-16.50 น.

ความรู้ที่ได้รับ
  • วันนี้ ทุกกลุ่มได้เตรียมกิจกรรมมา และดำเนินกิจกรรมตามแผนการจัดประสบการณ์
กลุ่มแรก  หน่วย : ไก่






คำคล้องจอง "หน่วยไก่"
  1. ครูอ่านให้ฟัง
  2. เด็กอ่านตาม
  3. อ่านไปพร้อม ๆ กัน
-  ถามว่ามีไก่สายพันธุ์ใดบ้างที่อยู่ในคำคล้องจอง และถามว่านอกจากในคำคล้องจองนี้ เด็กรู้จักไก่สายพันธุ์ใดบ้าง
-  จากนั้นให้เด็กบอกชื่อไก่ และนับไปพร้อมกัน 
-  ให้เด็กออกมาวางตัวเลขกำกับ
-  ให้เด็กแยกไก่ชน ออกจากไก่อื่น ๆ
-  ให้เด็กนับเปรียบเทียบ มากกว่า/น้อยกว่า แล้วก็กำกับตัวเลข

คำแนะนำที่อาจารย์ให้กลุ่มนี้คือ
-  เว้นระยะการเขียนให้ชัดเจน ไม่ชี้ไม่ควรทับตัวหนังสือ
-  ควรทำสื่อแบบเป็นเล้าไก่ (สื่อเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น)
-  มีการแปะตัวไก่บนกระดาน และบันทึกให้เด็กเห็น



กลุ่มที่ 2  หน่วย : นม





  1. การสอนกลุ่มนี้ ใช้ปริศนาคำทายในขั้นนำ
  2. แยกประเภทความเหมือน ความต่าง ในหัวข้อของ สี กลิ่น รสชาติ สถานะ เป็นต้น
อาจารย์แนะนำว่า  :  ให้เด็กนั่งเป็นครึ่งวงกลม หรือนั่งเป็นกลุ่ม





กลุ่มที่ 3  หน่วย : ข้าว



 







  1. ใช้ คำคล้องจอง ในขั้นนำ
  2. บันทึกจากคำคล้องจอง
  3. ทำน้ำหมัก ไล่ศัตรูพืช (คล้ายการทำคุกกิ้ง)
  4. ขั้นสรุปก็ทวนว่าเด็ก ๆ ได้ทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร เป็นต้น
อาจารย์แนะนำว่า  :  ควรมีรูปประกอบคำต่าง ๆ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาธรรมชาติ





กลุ่มที่ 4  หน่วย : กล้วย
(กลุ่มพวกเราเองค่ะ)















ใช้การสอนโดยการเล่านิทาน "เรื่องกล้วยกล้วยของหนูนิด"
เมื่อเล่านิทานจบแล้วก็ทบทวนความรู้จากนิทาน และนอกเหนือนิทานที่เล่า
โดยบันทึกเป็นตารางแยกระหว่าง ประโยชน์ และข้อควรระวัง

อาจารย์แนะนำว่า  :  การเขียนแผนฯ หัวข้อสาระที่ควรรู้ ให้ระบุเลยว่า จะสอนเรื่องอะไร



กลุ่มที่ 5  หน่วย : น้ำ















กลุ่มที่ 6  หน่วย : ส้ม
เป็นการสอนที่บูรณาการ STEM







มีการบูรณาการโดยการให้เด็กดูวีดิโอการประดิษฐ์ของเล่น ขวดบ้าพลัง
แล้วให้เด็กประดิษฐ์และนำมาเล่นกับเมล็ดส้ม




คำศัพท์

STEM  =  เป็นคำย่อจากภาษาอังกฤษของศาสตร์ 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology)  วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)  
หมายถึงองค์ความรู้ วิชาการของศาสตร์ทั้งสี่ที่มีความเชื่อมโยงกันในโลกของความเป็นจริงที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ต่าง ๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกันในการดำเนินชีวิตและการทำงาน
Pea flowers  =  ดอกอัญชัน
Tale  =  นิทาน
Fermentation broth  =  น้ำหมัก
Sirup  =  น้ำเชื่อม


การประยุกต์ใช้
  • การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในวันนี้ ทำให้ได้ความรู้ ทักษะในการนำไปจัดประสบการณ์ให้เด็กปฐมวัยได้ การได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่หลากหลาย จะทำให้เรามีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น สามารถนำไปใช้ในการทำงาน และการทำกิจกรรมกับคนในครอบครัวได้


การประเมินผล

ประเมินตนเอง  :  มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมของกลุ่มอื่น ๆ 
ประเมินเพื่อน  :  เพื่อนทุกคนเตรียมการสอนมาอย่างดี มีความหลากหลาย น่าสนใจ ได้รับความสนุกสนานจากการทำกิจกรรม
ประเมินอาจารย์  :  อาจารย์ให้คำแนะนำอย่างเป็นกันเอง เปิดโอกาสให้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างอาจารย์และนักศึกษา